ตามรอยหมู่บ้านชิน ริมฝั่งน้ำเล มโร

นานาตี

ปลายเดือน เมษายน ณ รัฐอาระกัน (ยะไข่) ประเทศพม่า   -   แดดอ่อนๆ ตอนเช้ากระทบผิวแม่น้ำเล มโรในเมืองซิตตวยเป็นประกายระยิบระยับ เรือยนต์ลำเล็กพาเราล่องทวนกระแสน้ำขึ้นไปทางทิศเหนือ หญิงสาวชาวท้องถิ่นทูนตะกร้าใบเขื่องไว้บนศีรษะ เดินหลังตรงอยู่บนตลิ่งที่สูงกว่าระดับผิวน้ำหลายเมตร ดูราวกับนางแบบที่เดินโชว์อยู่บนรันเวย์แคทวอล์ค แม่น้ำเล มโรไหลคู่ขนานกับแม่น้ำคะลาดาน สายเลือดใหญ่ของรัฐอาระกันที่มีอาณาเขตติดกับบังกลาเทศ บริเวณลุ่มน้ำทั้งสองจึงมีผู้คนหลายชนชาติอาศัยอยู่ทั้งชาวพม่า ยะไข่และชาวมุสลิม เราจะเห็นเรือที่มีชาวประมงตาคมผิวเข้มแบบชาวอินเดีย หญิงสาวนุ่งผ้าซิ่นประแป้งทะนาคา และสาวมุสลิมกับผ้าคลุมผมสีสดกับหม้อน้ำสีเงินแวววับทำกิจวัตรประจำวันอยู่ที่ริมฝั่งน้ำ



นอกเหนือจากนี้แล้วยังมีผู้คนอีกชนเผ่าหนึ่งอาศัยอยู่ริมฝั่งน้ำสายนี้ พวกเขาเป็นชนเผ่าเดียวที่มีรอยสักบนใบหน้าเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเรียกตัวเองว่า  "โซมิ"(Zomi)   หรือที่รู้จักในนามชนเผ่า  "ชิน"(Chin)   และหมู่บ้านของพวกเขาคือจุดหมายปลายทางของเราในวันนี้ 


ระยะเวลากว่าสามชั่วโมงครึ่งของการล่องเรืออาจเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานและน่าเบื่อ แต่ไม่ใช่การล่องน้ำเล มโรครั้งนี้แน่ เพราะตลอดทางต้องตื่นตาตื่นใจกับเรือมากมายหลายแบบทั้งเรือประมง เรือบรรทุก เรือพายลำเล็ก เรือใบที่ใช้โสร่งเย็บต่อๆ กันเป็นใบเรือ และเรือไม้โบราณลำใหญ่ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยแรงของฝีพายหนุ่มเพียงสองคน 


ด้วยความที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองซิตตวยและใกล้กว่าการเดินทางไปยังรัฐชินที่มีชาวชินอยู่มากที่สุด หมู่บ้านชาวชินริมน้ำเล มโรจึงถูกบรรจุอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวของบริษัททัวร์โดยใช้รอยสักบนใบหน้าเป็นจุดขาย  ขณะที่หลายคนมองว่าการท่องเที่ยวลักษณะนี้เป็นการปฏิบัติต่อมนุษย์เหมือนสัตว์หรือ ”Human Zoo” จะต่างกับสวนสัตว์เพียงแค่เป็นคนแทนที่จะเป็นสัตว์ แต่ก็เป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวไม่น้อย


ไม่นานนักเราก็มาถึงหมู่บ้านชินแห่งแรก พ่อแม่ลูกครอบครัวหนึ่งที่กำลังซักผ้าและอาบน้ำอยู่ริมตลิ่งส่งยิ้มทักทายเรา ขณะนั้นมีเรือลำหนึ่งค่อยๆ เข้ามาจอดเทียบฝั่ง ลวดลายบนใบหน้าของหญิงสูงวัยที่อยู่ในเรือทำให้รู้ว่า เราได้พบกับคนที่เรากำลังตามหาแล้ว เธอเดินตรงเข้ามาหาเราและทักทายเป็นภาษาพม่าด้วยใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ก่อนจูงมือผู้มาเยือนเดินเข้าไปยังหมู่บ้านอย่างเป็นaกันเองเหมือนเป็นลูกหลาน ไกด์ชาวยะไข่บอกว่าเราโชคดีเพราะเธอเพิ่งกลับจากทำธุระที่หมู่บ้านอื่น


เมื่อเดินเข้าไปในหมู่บ้านก็รู้สึกได้ถึงกลิ่นหอมอ่อนๆ ตามธรรมชาติของเนื้อไม้ไผ่ที่แทรกซึมอยู่ในอากาศตั้งแต่ต้นหมู่บ้านไปจนถึงท้ายหมู่บ้าน เพราะบ้านทุกหลังสร้างด้วยไม้ไผ่แบบเดียวกันเกือบทุกบ้าน


หญิงสูงวัยชาวชินพาเรามายังลานกลางหมู่บ้านเพื่อพบกับเพื่อนร่วมรุ่นที่มีรอยสักบนใบหน้าเหมือนกันอีกสี่ท่าน หากมองในระยะใกล้จะ เห็นว่าลวดลายของรอยสักประกอบด้วยเส้นที่ขนานกันหลายๆ เส้นโยงใย ตั้งแต่หน้าผากไล่ลงมาที่แก้ม จมูก จนถึงคาง แม้กระทั่งเปลือกตา จะเว้นไว้แค่ริมฝีปากเท่านั้น   


ชาวชินแบ่งเป็นกลุ่มย่อยมากถึง 32 กลุ่ม1 ลวดลายที่สักและสีที่ใช้อาจแตกต่างกันไปบ้าง บางกลุ่มอาจใช้สีดำ บ้างก็ใช้สีกรมท่า บางกลุ่มก็สักเป็นรูปนกบนหน้าผาก ส่วนผู้หญิงชาวชินทั้งห้าคนที่นี่รวมถึงหมู่บ้านชินอีกหลายแห่งในบริเวณนี้เป็นกลุ่มเลย์ ทู (Lay Htoo) เหมือนกันจึงสัก ลายเดียวกันทุกคน   


ถ้าจะพูดถึงการสักในปัจจุบัน ความสวยงามคือเหตุผลอย่างหนึ่ง  สำหรับชาวชินก็เกี่ยวข้องกับความสวยเช่นกัน แต่เป็นการสักเพื่ออำพรางใบหน้าไม่ให้เห็นความงาม เรียกว่าความสวยเป็นเหตุ เพราะคนโบราณเล่าต่อๆ กันมาว่า ในอดีต หญิงสาวชาวชินมีความสวยต้องตาต้องใจคนต่างถิ่นเป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งเจ้าเมืองกษัตริย์พม่าที่มักจะจับตัวสาวชาวชินไปเป็นภรรยาและทาสรับใช้ ผู้นำชนเผ่าจึงสั่งให้หญิงสาวชินสักใบหน้าเพื่ออำพรางความงามตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่นช่วงอายุประมาณ 12 - 13 ปีเช่นเดียวกับหญิงชาวชินที่เราพบทั้งห้าคน


สิ่งที่หลายคนอดคิดถึงไม่ได้คือเรื่องความเจ็บปวดที่เป็นของฃู่กับการสัก พวกเธอเล่าว่า ต้องให้คนที่มีความชำนาญเป็นผู้สักให้ โดยจะสักต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนเสร็จ ปกติแล้วใช้เวลาถึง 2 วัน จะพักแค่ตอนรับประทาน อาหารเท่านั้น เด็กสาวแทบทุกคนนอนร้องไห้ด้วยความเจ็บปวดตลอดการสัก กินอะไรไม่ได้และลืมตาไม่ได้เพราะมีอาการบวม บางคนที่รอยสักจางหรือลายไม่ขึ้นต้องมาสักซ้ำอีกครั้งสองครั้ง หรือจนกว่าสีจะเข้ม ฟังอย่างนี้แล้วจึงไม่แปลกใจที่เด็กผู้หญิงในหมู่บ้านต่างพากันส่ายหน้า เมื่อถูกถามว่าอยากสักเหมือนคุณยายไหม  


ปัจจุบัน วัฒนธรรมการสักใบหน้าหลงเหลืออยู่แค่ในหมู่บ้านชนบท ในป่าเขาห่างไกลเพียงไม่กี่แห่ง ส่วนพื้นที่อื่นๆ ไม่นิยมสักกันแล้วเพราะไม่มีใครมาจับตัวหญิงชาวชินไปเหมือนแต่ก่อน จึงไม่มีความจำเป็น อีกต่อไป แถมหมอสักใบหน้าที่มีฝีมือต่างล้มหายตายจากกันไปเกือบหมด  อย่างในละแวกนี้ถ้าใครอยากสักก็ไม่มีคนสักให้ เพราะหมอสักเสียชีวิตกันไปหมดแล้ว นอกจากนี้ ครั้งหนึ่งรัฐบาลทหารพม่าได้สั่งห้ามหญิงชาวชินสักใบหน้าเพราะเห็นเป็นเรื่องป่าเถื่อน ชาวบ้านก็เลยไม่กล้าสัก


เคยมีคนพูดติดตลกว่า ถ้าตอนนั้นรัฐบาลรู้ว่าการสักใบหน้าดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างวันนี้ เด็กผู้หญิงชาวชินคงต้องลำบาก เพราะรัฐบาลคงบังคับให้สักหน้ากันหมดเป็นแน่


ปัจจุบันหมู่บ้านบริเวณนี้จึงมีเพียงหญิงชราวัยประมาณ 50 ปีขึ้นไปที่ยังมีรอยสักหลงเหลืออยู่ไม่กี่คน จึงอดคิดไม่ได้ว่าอีก 10 หรือ 20 ปี หากหมดรุ่นนี้แล้ว หมู่บ้านเหล่านี้ก็คงจะถูกลบชื่อออกจากโปรแกรมของบริษัททัวร์เป็นแน่


ในตอนนี้ดูเหมือนว่าคนเกือบทั้งหมู่บ้านมารวมตัวกันอยู่ที่ลานกลางหมู่บ้านกันหมดแล้ว หญิงชาวชินผู้ใจดีชวนเราไปดูสวนผักผลไม้ที่ปลูกเองซึ่งก็อยู่ไม่ไกลนัก เราเดินข้ามสะพานไม้ไผ่เล็กๆ ที่ต้องเดินเรียงหนึ่ง ผ่านอาคารไม้แห่งหนึ่ง ด้านหน้ามีป้ายชื่อสีเขียวเหมือนกระดานดำติดกับเสาธง นี่คือโรงเรียนเด็กประถมแต่ช่วงนั้นเป็นช่วงปิดภาคเรียน จึงไม่มีนักเรียนมาเรียน มีแต่เด็กๆ ที่มาเล่นด้วยกันโดยมีก้อนหินดินทรายและวัสดุธรรมชาติเป็นของเล่น บางคนก็ช่วยเลี้ยงน้องที่ยังเล็ก ซึ่งเด็กๆ สามารถดูแลกันเองไม่ต้องเดือดร้อนผู้ใหญ่


ที่น่าชื่นใจก็คือ เมื่อเรามองเข้าไปในอาคารหลังนั้นก็เห็นภาพเด็กผู้ชายวัยประถมประมาณ 7 - 8 คนกำลังนั่งพับเพียบตั้งใจฟังพระสงฆ์อบรมสั่งสอนอย่างสงบเรียบร้อย ในขณะที่บ้านเรา เด็กส่วนใหญ่อยู่ในร้านเกมส์คอมพิวเตอร์ อีกส่วนหนึ่งเดินเล่นอยู่ในห้างสรรพสินค้า 


ไม่ไกลนักเราก็มาถึงสวนที่บรรดาหญิงสูงวัยตั้งใจนำเสนอ ซึ่งเป็นแปลงผักแห้งๆ ไม่กี่แปลงที่เต็มไปด้วยวัชพืชบนลานดินโล่งๆ เพราะไม่ใช่ช่วงเพาะปลูก เรากลับขึ้นเรือเพื่อเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านชาวชินอีกแห่งหนึ่งโดยมีขบวนหญิงสูงวัยชาวชินเดินจูงมือมาส่ง เมื่อถึงริมฝั่ง หนึ่งในนั้นได้เด็ดดอกชบาสีแดงสดมอบให้เราเป็นของที่ระลึก ก่อนจะโบกไม้โบกมือและส่งยิ้มหวานเป็นการอำลา


ไม่นานนักเราก็มาถึงหมู่บ้านชินอีกแห่งหนึ่งริมฝั่งน้ำ หมู่บ้านแห่งนี้มีลักษณะไม่ต่างจากหมู่บ้านแห่งแรก บ้านทุกหลังสร้างด้วยไม้ไผ่แบบเดียวกัน ขณะที่เรานั่งคุยกับหญิงสูงวัยที่มีรอยสักบนใบหน้าและอายุรุ่นราวคราวเดียวกับหมู่บ้านแรกสองคนและชาวบ้านคนอื่นๆ ที่ร้านขายของชำเล็กๆ ผู้เขียนก็ต้องตกใจเมื่อหญิงผู้มีใบสักบนใบหน้าถุยน้ำหมากลงพื้นเฉียดเท้าเพียงไม่กี่กระเบียด


เมื่อเห็นผู้เขียนแสดงท่าทีตกใจ ไกด์จึงบอกให้ทราบว่า หญิงชาวชิน ท่านนี้ตาบอดมาระยะหนึ่งแล้ว และอาศัยในกระท่อมเล็กๆ อยู่กับหลานสาว  สายตาของเธอเริ่มฝ้าฟางลงทีละน้อย และไม่มีโอกาสไปหาหมอเพราะหมู่บ้านชินแถวนี้ไม่มีโรงพยาบาล ต้องนั่งเรือไปในเมือง และต้องเสียเงินทั้งค่าเดินทางและค่ารักษาไม่รู้อีกเท่าไหร่ ซึ่งลำพังเอาชีวิตให้รอดทุกวันนี้ก็ยากแล้ว เธอจึงต้องเผชิญกับโลกที่มืดลงไปเรื่อยๆ จนมองไม่เห็น อะไรเลย เธอบอกว่า ” เดือนหน้าฉันก็คงจะตายแล้ว ฉันคิดอย่างนี้ทุกเดือน แต่ก็ยังไม่ตายซักที”


เป็นเรื่องน่าเศร้าที่รัฐบาลพม่าต้องการให้หญิงชราผู้มีรอยสักบนใบหน้าเหล่านี้เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวซึ่งมีส่วนทำให้เงินไหลเข้าประเทศ แต่กลับไม่ได้เข้ามาดูแลแถมปล่อยให้พวกเธอเผชิญกับชะตากรรมอย่างโดดเดี่ยว เช่นเดียวกับชาวบ้านในละแวกนี้ที่รัฐบาลพม่าไม่ได้ใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชนของตนเองอย่างที่ควรจะเป็น แม้ไม่มีรายได้ แต่ชาวบ้านอาจเพาะปลูกเพื่อเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตได้ หรือบางครั้งได้เงินจากนักท่องเที่ยวบ้าง หรือของใช้จำเป็นที่ไกด์ทัวร์จะนำติดไม้ติดมือมาฝาก แต่ยามเจ็บไข้ได้ป่วย พวกเขาต้องรักษากันเองตามมีตามเกิด


เวลาล่วงเลยไปถึงช่วงบ่ายแก่ๆ เราเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านชินอีกแห่งหนึ่งก่อนที่จะล่องเรือกลับเข้าไปในเมืองซิตตวยให้ทันก่อนค่ำ เพราะการเดินทางโดยเรือในเวลากลางคืนค่อนข้างอันตราย เรือยนต์ลำเล็กพาเราล่องตามกระแสน้ำ สวนทางกับเรือประมงของชาวบ้านหลายลำที่กำลังจะกลับบ้านพร้อมกับปลาที่หาได้ ครอบครัวในเรือใบครอบครัวหนึ่งจอดแวะพักและที่ริมตลิ่งโดยถอดใบเรือออกมาขึงกับเสาไม้ไผ่ทำเป็นเพิงชั่วคราวที่คงกันได้เพียงน้ำค้างสำหรับค่ำคืนนี้   


เรามาถึงซิตตวยได้ทันก่อนพระอาทิตย์ตก ในตัวเมืองซิตตวยมีโปสเตอร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวใบใหญ่ติดอยู่ในร้านอาหารของโรงแรมแห่งหนึ่ง นางแบบที่ทัดดอกชบาสีแดงสดยิ้มหวานอยู่กลางโปสเตอร์ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นหญิงชาวชินคนแรกที่เราได้พบในการเดินทาง 


ความมืดค่อยๆ ปกคลุมไปทั่วท้องฟ้า แสงไฟจากอาคารบ้านเรือนส่องสว่างแข่งกับแสงดาวบนท้องฟ้า เวลานี้แสงสว่างอาจไม่จำเป็นสำหรับหญิงชราชาวชินตาบอดที่เราได้พบ เรารู้เพียงว่า ความช่วยเหลือคือสิ่งที่เธอต้องการ และความตายคือสิ่งที่เธอรอคอย แต่คงไม่มีใครตอบได้ว่า ระหว่างสองสิ่งนี้ เธอจะได้พบกับสิ่งไหนก่อน.